ในรัชกาลที่ 1 เชียงใหม่เป็นเมืองร้างป่าช้างดงเสือ เจ้ากาวิละ แห่งเมืองเชียงใหม่ได้ฟื้นม่าน (ขับไล่พม่า) และเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง(สร้างบ้านแปลงเมือง)โดยไปชักชวน ไตลื้อ ไตเขิน ไตใหญ่ ไตยวน ประกอบกับสิบสองปันนา ขณะนั้นกำลังประสบกับการรุกรานจากมองโกล จึงเข้าสู่ยุคการสร้างวัฒนธรรมใหม่เป็นเชียงใหม่ล้านนาไทย จังหวัดลำพูนนับได้ว่าเป็นเมืองของชาวไตลื้อกลุ่มใหญ่จากเมืองยอง โดยแท้
ในรัชกาลที่ 4 เจ้าสุริยพงผริตเดช แห่งเมืองน่านดำเนินนโยบาย เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เช่นกัน ลื้อเมืองหย่วน เมืองมาง เมืองล้า เมืองพง เมืองฮำ จึงได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดน่าน เชียงม่วน เชียงคำ อำเภอเชียงคำได้ริเริ่มจัด “งานสืบสานตำนานไตลื้อ” สืบเนื่องมาหลายปี ประกอบกับชุมชนไตลื้อเชียงคำมีเป็นจำนวนมากถึงกับมีการกล่าวกันว่า “เชียงคำคือเมืองหลวงคนไตลื้อในประเทศไทยแน่แท้”
ไตลื้อจากเมืองหย่วนเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคำได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของ ตนเองเหมือนเมืองเดิมที่สิบสองปันนาว่าบ้านหย่วน ต่อมาผู้คนเพิ่มขึ้นพื้นที่คับแคบจึงได้แยกกลุ่มมาตั้งหมู่บ้านใหม่และบูรณะ พระธาตุเก่าแก่ที่มีอยู่เดิมโดยตั้งชื่อใหม่ว่าตามพระธาตุว่า “บ้านธาตุสบแวน”
2492-2501 ยุคประเทศจีนปฏิวัติวัฒนธรรมศาสนาถูกปิดกั้น พระราชวังเวียงผาครางถูกทำลาย จนย่อยยับ เจ้าหม่อมคำลือคือเจ้าหอคำเชียงรุ่งหรือกษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวไตลื้อ ไร่นาทรัพย์สินของไตลื้อถูกยึด ผู้คนถูกเกณฑ์ไปทำนาการอพยพสู่ล้านนาไทยครั้งใหญ่เป็นยุคสุดท้ายของไตลื้อ สู่แม่สาย เชียงของ แม่สรวย และเชียงใหม่ หลังจากนั้น การอพยพของชาวไตลื้อจากสิบสองปันนา สู่ล้านนาไทยก็มีมา “เหมือนน้ำซึมทราย” มาโดยตลอดมาตามสายเครือญาติ ด้วยล้านนาเป็นเมืองที่สงบร่มเย็น คนไตยวน(คนเมือง)กับคนไตลื้อ ยอมรับปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืนจนบางครั้งแยกไม่ออกว่า วัฒนธรรมประเพณีใดเป็นของคนไตลื้อหรือเป็นของคนเมือง
ปัจจุบันพรมแดนการเมืองวัฒนธรรมถูกเปิดขึ้นทั้งในจีน พม่าและเวียตนาม คนไทยตื่นเต้นต่อการไปเยือน ไตเขินในเชียงตุง ไตลื้อในสิบสองปันนา ส่วนหนึ่งแสดงออกถึงอาการหวนหาอาลัย ในวิถีชีวิตเก่าๆ ที่สูญสิ้นไปนานแล้วจากล้านนา แต่ยังหลงเหลืออยู่ที่ เชียงตุง เชียงรุ่งเพราะภาพเชียงรุ่ง เชียงตุงในวันนี้คือภาพสะท้อนของเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เมื่อ50-60 ปีที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ-สาย สัมพันธ์ 5 เชียง คือ เชียงรุ่ง เชียงตุง เชียงราย เชียงใหม่ และเชียงทอง(หลวงพระบาง)ในปัจจุบัน
บัดนี้ภาษิตของชาวไตลื้อโบราณ กลับมาดังก้องในโสตประสาทของผองเผ่าไตในอุษาคเนย์ทั้ง 5 เชียงอีกครั้ง …“ตางเบ๋าเตว สามวันก็หมอง ปี้น้องเบ่าไปหากั๋นก็เส่า”… (หนทาง ถ้าไม่เดิน หญ้าก็ขึ้นรก ญาติพี่น้อง ถ้าไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ก็ดูเหมือนจะเป็นอื่นไป)
วิถีชีวิตคนไตลื้อเป็นคนขยันอดทน รักสงบ สะอาด ปลูกผัก ทำไร่ ทำนา(ไตคือชนชาติแรกที่ค้นพบการทำนาในซีกโลกตะวันออก)
ภาษไตลื้อได้รับอิทธิพลมาจากอักษรมอญโบราณ และมีอิทธิพลต่ออักษรไทยของพ่อขุนราม เพราะคำบางคำของภาษาไทยในพจนานุกรมอธิบายว่าเป็นคำโบราณแต่คำโบราณที่ว่า นั้นเป็นคำที่ใช้กันปกติของชาวไตลื้อในสิบสองปันนา
อ.วิชัย ศรีจันทร์